ตรวจสุขภาพหัวใจ โรคหัวใจมีกี่ชนิด? รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

จะรู้ได้อย่างไรว่าอวัยวะในร่างกายยังทำงานได้ดีเป็นปกติ โดยเฉพาะหัวใจ อวัยวะสำคัญในร่างกายที่ทำงานหนักตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ไม่เคยหยุดพัก แม้แต่ในขณะที่เรานอนหลับ เพราะหัวใจมีหน้าที่หลัก คือ สูบฉีดเลือดให้ไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย ถ้าหัวใจแข็งแรง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพดี

การตรวจสุขภาพหัวใจ ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้ง จะช่วยค้นหาสิ่งผิดปกติและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เพื่อเป็นการป้องกัน รู้ทันความเสี่ยงโรคหัวใจแม้ว่ายังไม่มีอาการใด ๆ มาทำความรู้จักโรคหัวใจ มีกี่ชนิด? พร้อมเช็คสัญญาณอันตราย อาการแบบไหน? เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ รักษาวิธีไหนดี? เพื่อการมีหัวใจให้แข็งแรงและชีวิตที่ยืนยาว

สารบัญ ตรวจสุขภาพหัวใจ

1. ทำความรู้จักโรคหัวใจ

2. โรคหัวใจมีกี่ชนิด

3. อาการต้องสงสัย โรคหัวใจ

4. ใครบ้างที่เสี่ยงโรคหัวใจ

5. จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจ

6. วิธีรักษาโรคหัวใจ

ทำความรู้จักโรคหัวใจ

โรคหัวใจ (Heart Disease) หมายถึง โรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ

จากการรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2563 พบว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายครองแชมป์อันดับ 1 ของคนทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคนี้ประมาณ 17.9 ล้านคน

สำหรับประเทศไทย หนึ่งในโรคหัวใจที่พบได้มากที่สุด คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 150-300 ต่อแสนประชากร นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่ที่ปีละประมาณ 300,000-350,000 แสนรายต่อปี หรือเฉลี่ยนาทีละ 2 คน นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทยในปัจจุบัน

โรคหัวใจมีกี่ชนิด?

โรคหัวใจมีหลายชนิด แบ่งได้ดังนี้ คือ

โรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease: CAD/Coronary Heart Disease: CHD) เกิดจากการเกาะของคราบไขมัน (Plaque) ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆ ภายในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบและอุดตันจนปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือด

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia) เกิดจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจหรือการนำไฟฟ้าหัวใจ หรือทั้ง 2 อย่างรวมกัน  ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้มีอาการหัวใจเต้นช้าผิดปกติ น้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ คือเร็วกว่า 100 ครั้ง/นาที หรือหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่น เต้น ๆ หยุด ๆ หรือเต้นเร็วสลับเต้นช้า

โรคกล้ามเนื้อหัวใจ

โรคกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Dilated Cardiomyopathy) โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertrophic cardiomyopathy) โรคกล้ามเนื้อหัวใจถูกบีบรัด มีภาวะบีบรัดหัวใจ (Cardiac Tamponade) ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม และมีอาการมากขึ้นเมื่อต้องออกแรงหนัก ๆ หากกล้ามเนื้อหัวใจมีอาการรุนแรงมากขึ้น จะทำให้มีอาการเหนื่อย แม้ขณะนั่งอยู่เฉย ๆ มีอาการบวมตามแขน ขา หนังตา ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ และตื่นขึ้นมาไอในเวลากลางคืน

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) คือ ความผิดปกติของการพัฒนาการสร้างหัวใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อทารกอยู่ในครรภ์ จากการสร้างอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์ในตัวอ่อน ความผิดปกติที่เกิดขึ้นสามารถพบได้ในทุก ๆ ส่วนของหัวใจ เช่น จำนวนห้องของหัวใจอาจไม่ครบ 4 ห้อง ผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว ลิ้นหัวใจตีบตันหรือรั่ว หลอดเลือดใหญ่มีขนาดผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจออกผิดที่ หลอดเลือดเกิน เป็นต้น สามารถวิเคราะห์ความผิดปกติได้ตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์มารดา โดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)

โรคลิ้นหัวใจ

โรคลิ้นหัวใจ (Valve Heart Disease) เกิดจากลิ้นหัวใจ ทำหน้าที่เป็นประตูกั้นระหว่างห้องหัวใจทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนเลือดให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ป้องกันเลือดไหลย้อนกลับทำงานผิดปกติ แบ่งออกได้เป็นลิ้นหัวใจตีบ (Stenosis) และลิ้นหัวใจรั่ว (Regurgitation) หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การไหลเวียนของเลือดมีปัญหาในระดับรุนแรง และเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้

โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ

โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจ หรือโรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ (Infective Endocarditis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต รวมทั้งการทำหัตถการทางการแพทย์ การใช้สารเสพติด และมีการเหนี่ยวนำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณหัวใจตามมา โดยผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจอยู่ก่อนแล้ว ทำให้เชื้อแบคทีเรียสามารถเกาะติดกับลิ้นหัวใจที่ผิดปกติได้ง่าย และลุกลามทำลายลิ้นหัวใจ ทำให้เกิดลิ้นหัวใจอักเสบได้

อาการต้องสงสัย โรคหัวใจ

1. เจ็บแน่นหน้าอก

มีอาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอกข้างซ้าย หรือทั้ง 2 ด้าน บางรายอาจมีอาการเจ็บร้าวไปถึงแขนซ้าย หรือแขนทั้ง 2 ข้าง หรือเจ็บแน่นหน้าอกเวลาเคลื่อนไหวร่างกายที่ต้องใช้กำลังมาก หรือขณะออกกำลังกาย เช่น การเดินขึ้นบันได โดยอาการดังกล่าวจะดีขึ้นหลังหยุดออกกำลัง

2. เหนื่อยหอบ

รู้สึกหอบ หรือเหนื่อยง่ายมากกว่าปกติ รู้สึกบ้านหมุน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม สายตาพร่าเบลอ โดยอาการจะเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่งแล้วจะหายไปเอง

3. ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

โดยปกติแล้วอัตราการเต้นของหัวใจคนเราจะมีความสม่ำเสมอ อยู่ที่ประมาณ 60-100 ครั้ง/นาที แต่ในผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อัตราการเต้นของหัวใจก็พุ่งไปถึง 150-250 ครั้ง/นาที

4. เป็นลมหมดสติบ่อยครั้ง

จังหวะการเต้นของหัวใจไม่ได้อยู่ในระดับที่สม่ำเสมอ เนื่องจากเซลล์ที่ให้จังหวะไฟฟ้าภายในหัวใจเสื่อมสภาพ ทำให้การเต้นของหัวใจช้าลงและส่งเลือดไปเลี้ยงที่สมองได้ไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้เป็นลมหมดสติไปชั่วคราวได้

5. ขาบวม

เนื่องจากหัวใจด้านขวาทำงานลดลง เลือดจึงไหลจากขาไปที่หัวใจได้ไม่สะดวกจนทำให้เกิดเลือดค้างอยู่บริเวณขา ทำให้ขา หรือเท้าบวม โดยเนื้อจะมีลักษณะบุ๋มตามนิ้วที่กดลงไป

6. ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า และริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำ

เป็นลักษณะอาการที่บ่งชี้ว่าทางเดินของเลือดภายในหัวใจที่ห้องขวาและห้องซ้ายมีการเชื่อมต่อกันอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดการผสมกันของเลือดแดงและเลือดดำ

ใครบ้างที่เสี่ยงโรคหัวใจ

1. ผู้ที่มีอายุมากขึ้น

อายุมากขึ้น อวัยวะภายในร่างกายต่าง ๆ จะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบ

2. ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ

โรคหัวใจบางชนิดสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นหากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้

3. ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง

ผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น สูบบุหรี่ สารพิษในบุหรี่จะมีผลทำให้หลอดเลือดหัวใจเกิดความผิดปกติ การรับประทานอาหารที่ประกอบไปด้วยไขมัน เกลือ น้ำตาล หรืออาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง และไม่ชอบออกกำลังกายเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ

4. ผู้ที่มีความเครียด ความเครียด

ความเครียดมีผลต่อหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ คือ ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) โดยจะเร่งให้เกิดการทำลายชั้นเซลล์ของผนังหลอดเลือดแดง นอกจากนี้ความเครียดฉับพลันยังมีผลอย่างมากต่อเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะอีกด้วย

5. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน

โรคเบาหวาน โรคอ้วน เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้น เพราะมีโอกาสสูงที่จะมีไขมันในเลือดสูง ทำให้เลือดข้น อุดตันเส้นเลือดที่จะส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานหนักเพิ่มขึ้น จนหัวใจทำงานไม่ไหว และล้มเหลวในที่สุด

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจ

แพทย์จะสอบถามประวัติโดยละเอียด ตรวจร่างกายด้วยการตรวจเลือด และเอกซเรย์ทรวงอกแล้ว การทดสอบพิเศษทางหัวใจต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถช่วยในการวินิจฉัยได้

แบบประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

1. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ EKG)

ใช้สื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กไปวางตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ หน้าอก แขน และขา จากนั้นกราฟจะแสดงคลื่นไฟฟ้าเพื่อให้แพทย์อ่านผลและวินิจฉัยระดับความรุนแรงของโรคต่อไป

2. บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง ( Ambulatory ECG Monitoring หรือ Holter ECG)

ติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นอุปกรณ์ ECG แบบพกพาที่สามารถใส่เพื่อบันทึกจังหวะการเต้นของหัวใจอย่างต่อเนื่อง โดยปกติจะใช้เวลา 24-72 ชั่วโมง เพื่อตรวจจับปัญหาจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่พบในระหว่างการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ

3. ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเป็นการทดสอบแบบใช้คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ เพื่อสร้างภาพและตรวจวัดโครงสร้างหัวใจโดยละเอียด ขนาดของหัวใจการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจลิ้นหัวใจผนังกั้นและผนังหุ้มหัวใจ

4. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST)

เป็นการทดสอบการเพิ่มอัตราการเต้นและบีบตัวของหัวใจด้วยการออกกำลังกาย หรือยา และวัดการตอบสนองทั้งชีพจรความดันโลหิตความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และบางรายวัดความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจโดยการตรวจ Echocardiogram (Stress Echocardiogram) ช่วยในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางครั้ง ประเมินสมรรถภาพภาวะผนังหัวใจและหลอดเลือด

5. สแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ (CT SCAN)

การทำ CT Scan เป็นการทดสอบแบบใช้การเอ็กซเรย์เพื่อสร้างภาพโครงสร้างโดยละเอียด เพื่อวัดคะแนนหินปูนของหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Score) และหากฉีดสารทึบรังสีด้วย จะได้ภาพของหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดปอด เพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ผนังหัวใจ

6. สวนหัวใจ

การสวนหัวใจเป็นการใส่ท่อสั้น ๆ เข้าไปในหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดงบริเวณขาหรือแขน เพื่อตรวจวัดภายในหัวใจโดยตรงหรือการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจโรคลิ้นหัวใจหรือผนังกั้นหัวใจผิดปกติโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

โปรโมชั่นแนะนำ

วิธีรักษาโรคหัวใจ

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคหัวใจ เช่น อาหารที่มีไขมันสูง เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์                                ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

  • ยา บางรายที่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะจ่ายยาเพื่อควบคุม และบรรเทาอาการของโรค โดยยาที่ให้นั้นจะแตกต่างไปตามประเภท และอาการของผู้ป่วย

  • ผ่าตัด วิธีรักษาด้วยการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจของผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ เป็นต้น

สรุป

โรคหัวใจมีหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ ในเบื้องต้นสามารถเช็คสัญญาณ อาการต้องสงสัยโรคหัวใจ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยง สามารถตรวจสุขภาพหัวใจ เพื่อป้องกันหรือค้นพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มและระยะความรุนแรงของโรคหัวใจ ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์อายุรกรรมหัวใจและศัลยแพทย์หัวใจที่มีประสบการณ์สูง และเครื่องมือทันสมัยในการวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจ เพื่อผลลัพธ์และความปลอดภัยของผู้ป่วย

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคริดสีดวงถือเป็นปัญหาที่กวนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บปวดที่รบกวนทางกาย และรบกวนการใช้ชีวิตของใครหลายๆคน ปัจจุบันได้มีทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้ โดยที่เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวได้ไว และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การส่องกล้องกระเพาะอาหาร หรือ Gastroscopy ไม่เจ็บ สามารถวินิฉัยได้ตรงจุด ตรวจง่าย ปลอดภัย แพทย์สามารถเห็นสาเหตุที่เกิดรอยโรคชัดเจน

สมัครรับข่าวสาร

ท่านสามารถลงทะเบียนเพื่อสมัครรับข่าวสารและโปรโมชั่นแพคเกจ ผ่านทาง Email โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

Malcare WordPress Security