รับมือเชื้อลงปอด สังเกตอาการ รู้วิธีดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพปอดหลังติดเชื้อโควิด

แม้หลาย ๆ คน จะรักษาการติดเชื้อโควิด 19 จนหายแล้ว แต่ยังคงต้องดูแลสุขภาพของตัวเองต่อไป เพื่อลดความเสี่ยงการกลับมาเป็นซ้ำ และเพื่อฟื้นฟูปอดให้สมบูรณ์แข็งแรง มีวิธีการอะไรบ้าง ติดตามอ่านได้ในบทความนี้

หลังการติดเชื้อในผู้ป่วยโควิด-19

สิ่งที่ควรทราบ คือ หลังติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นเชื้อที่เกิดจากไวรัส ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง เนื่งจากเป็นเชื้ออุบัติใหม่ที่ยากต่อการป้องกันและรักษาได้โดยเร็ว ทำให้การรักษาเป็นไปได้ช้ามีโอกาสเชื้อไวรัสลงปอด เข้าไปทำร้ายปอดค่อนข้างสูง จนคนไข้เกิดอาการหายใจเหนื่อย หอบ ไอแห้ง มีเสมหะ และปอดอักเสบ บางรายที่ติดเชื้ออาจมีปอดอักเสบเกิดขึ้นมากกว่า 1 ตำแหน่ง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3-4 ตำแหน่ง คนไข้บางคนอาจไม่มีอาการแสดง หรือมีบ้างเล็กน้อย ในขณะที่อีกหลาย ๆ คน เกิดอาการรุนแรงกับปอดทั้ง 2 ข้าง และเสียชีวิตในที่สุด


ในรายที่รักษาหายทันท่วงที ทั้งจากยาต้านไวรัส ยาสเตียรอยด์ และยาอื่น ๆ จนเชื้ออ่อนแรงลง และไม่มีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อแล้ว แต่ก็ยังคงทิ้งรอยโรคเอาไว้ ความเสียหายที่โควิด-19 ทิ้งไว้กับสุขภาพ ผลกระทบสุขภาพหลายด้าน ทั้งหัวใจ ไต ปอด รวมถึงกล้ามเนื้อ เนื่องจากหลังจากผู้ป่วยหายแล้วอวัยวะบางส่วนของผู้ป่วย จะมีส่วนที่ได้รับความเสียหาย ถูกทำลายอย่างถาวร เช่น เนื้อเยื่อปอดบางส่วนถูกทำลาย มีพังผืด มีแผลในปอด หรือมีอาการปอดบวมหรือเนื้อปอดถูกทำลาย โดยที่ระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษา และการกำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในร่างกายว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

สังเกตอาการเชื้อโควิดลงปอด ที่ต้องเร่งฟื้นฟู

ในรายที่รักษาหายแล้ว อาจที่รู้สึกหายใจไม่เต็มปอด เหนื่อยง่าย ไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เหมือนเดิม หากนั่งอยู่เฉย ๆ อาจไม่ค่อยมีอาการ แต่เมื่อใดที่เคลื่อนไหวจะรู้สึกเหนื่อย หอบขึ้นมาทันที ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบหายใจในระยะยาวได้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเนื้อปอดขาดความยืดหยุ่น จากพังผืด ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้เหมือนเดิม


หากเข้ารับการตรวจวัดสมรรถภาพปอด จะพบว่าสมรรถภาพปอดต่ำกว่าปกติ ในคนไข้ที่มีอาการตามที่กล่าวมาข้างข้างตัน แนะนำควรปรึกษาแพทย์ทำการ X-ray ปอด หรือในบางอาจจะต้องทำ CT scan หรือ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography : CT) ปอดร่วมด้วย เนื่องจาก X -ray ปอด เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ หากต้องตรวจเช็คความเสียหายอย่างละเอียด เพื่อที่จะวางแผนฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ให้กลับมาใช้ชีวิตประจำได้ดีขึ้น

วิธีดูแลปอดหลังติดเชื้อโควิด-19

การฟิ้นฟูสมรรถภาพปอดหลังคนไข้หายจากเชื้อโควิด-19 ในทางการแพทย์จะแบ่งคนไข้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
  • กลุ่มแรก หลังจากหายจากโรคในช่วง 2 สัปดาห์แรก เมื่อ X-Ray ปอดดูจะยังพบว่ามีฝ้าขาว แต่มีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับในช่วงที่ติดเชื้อ
  • กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่หายจากการติดเชื้อโควิด19 ในช่วง 3-4 สัปดาห์ต่อมา ในช่วงเวลานี้ ร่างกายมีการฟื้นฟูกลับมาบ้างแล้วบางส่วน หากคนไข้สังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอจะรู้ว่ายังคงมีอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ไม่แข็งแรง ไม่กะปรี้กะเปร่า การหายใจยังไม่เป็นปกติ
เมื่อแพทย์ประเมินอาการคนไข้แต่ละราย ก็จะวางแผนการฟื้นฟูให้ตามความเหมาะสมในแต่ละบุคคล ซึ่งวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางปอด วิธีหลัก ๆ 3 วิธีคือ การฝึกหายใจ กายฝึกระบายเสมหะ และการออกกำลังกาย

1. การฝึกหายใจหลังหายโควิด-19

การฝึกหายใจสามารถช่วยลดแรงที่ใช้ในการหายใจ และส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนไหวและการขยายตัวของทรวงอก ช่วยป้องกันปอดแฟบ และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายเสมหะ โดยมีวิธีการดังนี้
ท่าที่ 1 Deep slow breathing เป็นการฝีกหายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ หายใจเข้าทางจมูก พร้อมยกแขน 2 ข้าง ขึ้นด้านหน้าหรือด้านข้าง หายใจออกเป่าปากยาว ๆ พร้อมผ่อนแขนลง
ท่าที่ 2 Active cycle of breathing technique เป็นการฝึกหายใจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะแบ่งย่อยอีก 4 ท่าย่อยดังนี้
   2.1 ท่าในการการควบคุมการหายใจ วางมือข้างหนึ่งที่หน้าอก อีกข้างใต้ลิ้นปี่ หายใจเข้าทางจมูก ท้องป่องดันมือด้านล่างขึ้น หายใจออกเป่าปาก ท้องยุบ ทำซ้ำประมาณ 5-10 รอบ ระหว่างรอบอาจจะมีการพักประมาณ 30 วินาที
   2.2 ท่าหายใจให้ทรวงอกขยาย โดยวางมือสองข้างที่ชายโครง หายใจเข้าให้ซี่โครงบานออก หายใจออกให้ซี่โครงยุบลง ทำซ้ำ 3 – 4 รอบ
   2.3 ท่าการกลับมาควบคุมการหายใจ โดยทำแบบข้อ 2.1 ต่อ ทำซ้ำประมาณ 5-10 รอบ
   2.4 ท่าหายใจออกอย่างแรง คนไข้ควรนั่งโน้มตัวไปด้านหน้า หายใจเข้าค้างไว้ประมาณ 1-3 วินาที และหายใจออกอย่างแรงทางปากประมาณ 1-3 ครั้งติดกัน โดยไม่หายใจเข้า ทำซ้ำ 1 – 2 รอบ


เบื้องต้นวิธีการฝึกหายใจที่แนะนำนี้ คนไข้ควรทำซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมง แต่หากทำแล้วรู้สึกว่าตนเองมีอาการ เหนื่อย หายใจเร็ว แน่นหน้าอก ใจสั่น ตามัว ปวดหัวเวียนหัว เหงื่อออกมาก ควรหยุดออกกำลังกายทันที โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์

2. การระบายเสมหะด้วยตนเอง เพื่อให้หายใจโล่งขึ้น

ผู้ป่วยหลังจากติดเชื้อป่วยโควิด-19 หลังจากรักษาหายแล้ว หลายคนมักจะมีอาการหายใจมีเสียงครืดคราด หรือรู้สึกว่ามีเสมหะในทางเดินหายใจ ส่งผลให้การหายใจเพื่อเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ


ดังนั้นในรายที่มีเสมหะควรฝึกระบายเสมหะด้วยตนเองร่วมด้วย โดยมีวิธีการกำจัดเสมหะ ด้วยตัวเองง่าย ๆ 3 วิธี ดังนี้ คือ ไอเพื่อระบายเสมหะ , ถอนหายใจออกแรง และ หายใจเป็นวงจร

2.1 วิธีฝึกการระบายเสมหะด้วยตัวเอง

หากรู้สึกว่ามีเสมหะอยู่ในท่อลมใหญ่ และไม่มีโรคประจำตัว คนไข้สามารถระบายเสมหะด้วเทคนิกการไอที่ถูกต้องดังนี้

  • นั่งบนเก้าอี้ โน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย

  • หายใจเข้าออก ปกติ 3-5 ครั้ง

  • หายใจเข้าลึกเต็มที่จนสุด โดยเน้นให้ชายโครงบายออก

  • กลั้นหายใจไว้ 3 วินาที พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง

  • จากนั้นให้อ้าปากกดคางลง ทำปาเป็นรูปวงกลม พร้อมไอออกแรง ๆ และยาวจนสุดลมหายใจออก

แนะนำ : คนไข้ควรพักด้วยการหายใจเข้า- ออก ปกติ 3-5 ครั้ง หากรู้สึกเวียนศีรษะคล้ายหน้ามืดขณะฝึก ควรพักสักครู่

2.2 วิธีฝึกการถอนหายใจออกแรง

การระบายเสมหะด้วยวิธีถอนหายใจออกแรง ทำในกรณีที่คนไข้มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด กรณีนี้หากคนไข้รู้สึกว่ามีเสมหะอยู่ในท่อลม ควรสามารถฝึกระบายเสมหะด้วย 2 วิธีดังนี้
2.2.1 การถอนหายใจออกแรงหลังจากหายใจเข้าปกติ

  • นั่งบนเก้าอี้ โน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย

  • หายใจ เข้า – ออกปกติ 3 ครั้ง

  • หายใจเข้าปกติ จากนั้นพ่นลมหายใจออกจากคอผ่านทางปากแรงๆ (อ้าปากกดคางลง ทำปากเป็นรูปวงกลม)พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง จนหายใจออกสุด ทำซ้ำ 3 ครั้ง

  • หายใจเข้า – ออกปกติ 3 ครั้ง จนหายเหนื่อย

แนะนำ : ทำซ้ำ 3-4 รอบ
2.2.2 การถอนหายใจออกแรง หลังจากหายใจเข้าลึกเต็มที่

  • นั่งบนเก้าอี้ โน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย

  • หายใจ เข้า – ออกปกติ 3 ครั้ง

  • หายใจเข้าลึกเต็มที่จนสุด โดยเน้นให้ชายโครงบานออก จากนั้นพ่นลมหายใจออกจากคอผ่านทางปากแรงๆ (อ้าปากกดคางลง ทำปากเป็นรูปวงกลม)พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง จนหายใจออกสุด ทำซ้ำ 3 ครั้ง

  • หายใจเข้า – ออกปกติ 3 ครั้ง จนหายเหนื่อย

แนะนำ : ทำซ้ำ 3-4 รอบ โดยเบื้องต้นควรทำการฝึกถอนหายใจแบบแรกก่อน หากทำแล้วไม่เหนื่อยเกินไปให้ลองทำแบบที่ 2 จำนวนครั้งในการฝึกขึ้นอยู่กับปริมาณเสมหะของคนไข้

2.3 วิธีฝึกหายใจเป็นวงจร

การระบายเสมหะด้วยการหายใจเป็นวงจร ACBT (active cycle of breathing technique) หรือ การหายใจแบบวงจร เป็นเทคนิคที่พัฒนามาจากเทคนิคการหายใจออกแรง ที่ใช้ในการรักษา
ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากช่วยลดปริมาณเสมหะที่คงค้างในปอดดี โดยมีวิธีฝึกดังนี้

  • นั่งบนเก้าอี้ ในท่าที่สบายและผ่อนคลาย

  • ช่วงที่ 1 ให้หายใจเข้าออกปกติ 5-10 วินาที

  • ช่วงที่ 2 ให้หายใจเข้าลึกเต็มที่จนสุด โดยเน้นให้ชายโครงบานออกและหายใจออกสุด

  • ช่วงที่ 3 ให้หายใจเข้าออกปกติ (หรือหายใจเข้าเต็มที่) จากนั้นถอนหายใจออกทางปาก (อ้าปากกดคางลงทำปากเป็นรูปวงกลม) พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง กระทั่งหายใจออกสุด ทำซ้ำ 3 ครั้ง และกลับมาหายใจเข้า-ออกปกติด 3 ครั้ง

  • หายใจเข้า-ออก ปกติ 5-10 วินาที จนหายเหนื่อย

ข้อควรระวังในการฝึกระบายเสมหะด้วยตัวเอง

  • ระหว่างการะหว่างการฝึกระบายเสมหะหากมีอาการหอบเหนื่อยหน้ามืดเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลมให้หยุดฝึกทันทีและพักด้วยการหายใจเข้าออกปกติจนกระทั่งไม่มีอาการดังกล่าวแล้วจึงเริ่มฝึกต่อจำนวนครั้งในการฝึกต่อวันขึ้นกับปริมาณเสมหะของท่าน

  • ระหว่างการฝึก คนไข้ควรนั่งอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ และต้องใส่หน้ากากอนามัยให้กระชับใบหน้าทุกครั้งขณะไอ หรือถอนหายใจแรงเพื่อระบายเสมหะ

  • หากไอแล้วมีเสมหะออกมาด้วยให้บ้วนเนื้อเสมหะและน้ำลายใส่กระดาษชำระจากนั้นทิ้งใส่ถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้เรียบร้อย

  • หากเสมหะเหนียวและขับออกมายากมากให้ดื่มน้ำอุ่นก่อนและระหว่างการระบายเสมหะ

3. การออกกำลังแขน- ขา

คนไข้สามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกิจวัตรประจำวันทั่วไป แบบง่าย ๆ เบื้องต้นแนะนำให้ออกกำลังกายแขน-ขา บนเตียงในท่าที่สบาย ๆ ดังนี้

  • กระดูกเท้าทั้งสองข้างขึ้น-ลง

  • งอเข่าและสะโพกขึ้นลง สลับซ้าย และขวา

  • กางขาเข้าออก สลับซ้าย และขวา

  • กำและแบมือทั้งสองข้าง

  • กระดกข้อมือทั้งสองข้าง

  • งอและเหยียดศอกทั้งสองข้าง

  • กางแขนทั้งสองข้างขึ้นลง

  • ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นลง

แนะนำ : ในแต่ละท่าควรทำซ้ำ 10 ครั้ง

สรุป

การเร่งฟื้นฟูสมรรถภาพปอดหลังติดเชื้อโควิด19 เป็นสิ่งที่คนไข้ควรให้ความสำคัญ รวมถึงการดูแลตัวเองในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องอาหารและสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ เนื่องจากปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด19 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง คนไข้ควรการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุมกัน พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการสูดควันบุหรี่และมลพิษต่าง ๆ เพื่อให้มีสุขภาพปอดที่ดี มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคริดสีดวงถือเป็นปัญหาที่กวนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บปวดที่รบกวนทางกาย และรบกวนการใช้ชีวิตของใครหลายๆคน ปัจจุบันได้มีทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้ โดยที่เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวได้ไว และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การส่องกล้องกระเพาะอาหาร หรือ Gastroscopy ไม่เจ็บ สามารถวินิฉัยได้ตรงจุด ตรวจง่าย ปลอดภัย แพทย์สามารถเห็นสาเหตุที่เกิดรอยโรคชัดเจน

สมัครรับข่าวสาร

ท่านสามารถลงทะเบียนเพื่อสมัครรับข่าวสารและโปรโมชั่นแพคเกจ ผ่านทาง Email โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

Malcare WordPress Security