ดูแลสุขภาพช่องปากในผู้ตั้งครรภ์ อย่างไรให้ปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อย

การมีสุขภาพช่องปากที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของการมีสุขภาพที่ดีในระหว่างการตั้งครรภ์ และส่งผลต่อสุขภาพของลูกในครรภ์ โดยปกติแล้วหญิงตั้งครรภ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่องปากที่ผิดปกติไปได้ แต่หากได้รับการตรวจรักษา และดูแลโดยทันตแพทย์เป็นประจำก็จะมีสุขภาพช่องปากที่ดีได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป

ความผิดปกติที่อาจพบได้ในหญิงตั้งครรภ์

  1. โรคเหงือก/ปริทันต์
  2. ฟันโยก
  3. น้ำลายน้อย
  4. ฟันผุ
  5. ติ่งเนื้ออักเสบ Pregnancy granuloma

โรคเหงือก/ปริทันต์

เป็นโรคในช่องปากที่พบได้มากที่สุดในหญิงตั้งครรภ์ อาการชัดเจนในช่วงไตรมาสที่2 และ3 อาการรุนแรงแม้มีการสะสมของคราบจุลินทรีย์เพียงเล็กน้อย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศจะไปกดการทำงานของภูมิคุ้มกันทำให้อาการอักเสบเกิดได้ง่ายและรุนแรง โดยเชื้อโรคปริทันต์มีความเกี่ยวข้องกับ การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดต่ำ เนื่องจากเชื้อปริทันต์สามารถทำให้เกิดติดเชื้อที่รก และสารอักเสบกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก นอกจากนี้เชื้อโรคปริทันต์ยังเพิ่มความเสี่ยงให้เกิด ภาวะครรภ์เป็นพิษ การแท้ง และ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อีกด้วย

ฟันโยก

สามารถพบฟันโยกได้ถึงแม้จะเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพเหงือกดี ฟันจะโยกได้มากในช่วงเดือนที่ 9 โดยที่ฟันหน้าบนโยกมากที่สุด เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแร่ธาตุของกระดูกหุ้มรากฟัน โดยที่ไม่มีการสูญเสียของกระดูกรอบรากฟัน โดยอาการจะดีขึ้นหลังคลอด

น้ำลายน้อย & ฟันผุ

ในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 3 จะมีการหลั่งน้ำลายลดลง รวมไปถึงการมีแร่ธาตุในน้ำลายที่เปลี่ยนแปลงทำให้น้ำลายมีความเป็นกรดมากขึ้น อีกทั้งการที่หญิงตั้งครรภ์อาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ง่าย ทานจุบจิบ และมีอาการกรดไหลย้อน จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุ หรือ ฟันกร่อนได้มากขึ้น ทั้งนี้จึงแนะนำให้จิบน้ำบ่อย ๆ ร่วมกับการใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดฟันผุ

ติ่งเนื้ออักเสบ Pregnancy granuloma

เป็นติ่งเนื้อที่มีลักษณะบวมแดง เป็นก้อน เลือดออกง่าย มักพบที่เหงือก เกิดจากการถูกกระแทกหรือขัดสีอย่างรุนแรงจนเกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ หรือในผู้ที่รักษาความสะอาดช่องปากได้ไม่ดี มักพบบ่อยในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 โดยติ่งเนื้อนี้หากขัดขวางการพูด การเคี้ยว หรือเลือดออกมากสามารถตัดทิ้งได้

การดูแลสุขภาพช่องปากช่วงตั้งครรภ์

  1. แปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ 2 ครั้งต่อวัน ใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้ง
  2. หลังอาเจียนงดการแปรงฟัน 1 ชั่วโมง
  3. ใช้น้ำ 1 แก้ว ผสมผงฟู หรือ แอดตาซิด อมบ้วนเพื่อลดความเป็นกรดในช่องปาก หรือใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์
  4. ใช้น้ำยาบ้วนปากผสมคลอเฮกซิดีน 30 วินาที วันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันผลอันไม่พึงประสงค์ในการตั้งครรภ์
  5. สัปดาห์ที่ 14-20 เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาทางทันตกรรม โดยจะทำการควมคุมฟันผุลุกลาม และ รักษาโรคปริทันต์ หรือโรคต่าง ๆ ในช่องปากเพื่อลดปัญหาในช่วงไตรมาสที่สาม

จึงสรุปได้ว่า โดยสรุปแล้วหญิงตั้งครรภ์นั้นไม่จำเป็นจะต้องมีสุขภาพช่องปากที่แย่ลงทุกราย ทั้งนี้การเข้าพบทันตแพทย์เป็นประจำ และ รักษาความสะอาดช่องปากเป็นอย่างดี ก็จะช่วยให้มีสุขภาพช่องปากที่ดีทั้งระหว่างตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอดได้

ให้ความรู้โดย นพ.ปฤษดา คำหม่อง ทันตแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลพีเอ็มจี

บทความทางการแพทย์