ไขข้อสงสัย เกี่ยวกับการ “ดมยาสลบ”
การดมยาสลบ หรือ การให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป (general anesthesia)
คือ การให้ยาระงับความรู้สึกให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองกับความเจ็บปวดใดๆ โดยมีทีมวิสัญญี่ช่วยดูแลระบบการหายใจ สัญญาณชีพ อุณหภูมิ อย่างใกล้ชิดตลอดเวลาการผ่าตัด
โดยการดมยาสลบนั้นก็มีทั้งข้อดี และ ข้อจำกัด ซึ่งแบ่งได้ดังนี้ คือ
ข้อดีของการดมยาสลบ
- ใช้ได้กับการผ่าตัดที่นาน
- ควบคุมการระงับความรู้สึกได้ดี
- ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลในระหว่างการผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือ
- ควบคุมความดันในเลือดไม่ให้ต่ำได้ดีกว่า
ผลข้างเคียงจากการดมยาสลบ
- ผู้ป่วยได้รับยาหลายชนิดทำให้อาจได้รับผลข้างเคียงจากยาหลายชนิด
- ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของสมอง ตับ ไต อาจฟื้นจากการระงับความรู้สึกช้า
- โอกาสเกิดคลื่นไส้ อาเจียนมากกว่าปกติ
- ควบคุมอาการปวดหลังผ่าตัดได้ไม่ดีเท่าการระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน
- อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ใส่ท่อหายใจยาก ใส่ท่อหายใจเข้าหลอดอาหาร ฟันหัก ทางหายใจอุดกั้น
การให้ยาระงับความรู้สึกแบบเฉพาะส่วน (regional anesthesia)
คือ การฉีดยาระงับความรู้สึกโดยทำให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกเฉพาะส่วนของร่างกายที่จะทำการผ่าตัดหรือทำหัตถการต่างๆ
การระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนมีทั้งข้อดี และ ข้อจำกัด ดังนี้คือ
ข้อดีของการใช้ยาระงับความรู้สึก
- สามารถประเมินความรู้สึกตัวของผู้ป่วยได้
- ควบคุมอาการปวดหลังผ่าตัดได้ดีกว่าการให้ยาระงับความรู้สึกทั่วไป
- รบกวนระบบหายใจน้อย
- เพิ่มความผูกผัน ความรัก ระหว่างมารดา และบุตรในกรณีผ่าตัดคลอด
- รบกวนระบบหายใจ และ หลอดเลือดน้อย กรณีที่มิใช่การฉีดยาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง หรือ ช่องเหนือเยื่อดูรา
ผลข้างเคียงของการใช้ยาระงับความรู้สึก
- การฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง อาจทำให้เกิดความดันเลือดต่ำ
- อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน เช่น การติดเชื้อ เลือดคั่ง ภาวะปวดศีรษะหลังการฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง
- ผู้ป่วยอาจมีความกังวล
- ยาชาแต่ละชนิดมีระยะเวลาออกฤทธิ์นานไม่เท่ากัน อาจหมดฤทธิ์ก่อนเสร็จการผ่าตัดในกรณีที่เติมยาชาไม่ได้
- ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
- ยาแก้ปวดที่ผสมในยาชาอาจทำให้เกิดอาการคัน คลื่นไส้ อาเจียน หรือกดการหายใจ