การตรวจสมรรถภาพหัวใจ ขณะออกกำลังกาย คืออะไร?
การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) คืออะไร?
การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST (Exercise Stress Test) คือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะทำงานหนัก โดยการกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นเหมือนขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนลู่วิ่ง (Treadmill) หรือขี่จักรยานอยู่กับที่ (cycling) ซึ่งจะได้ข้อมูลการตรวจเป็นกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่สามารถนำมาวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และอีกหลายโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ
ใครบ้างที่ควรตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)?
ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) คือผู้ที่มีพฤติกรรมและมีความเสี่ยง ดังนี้
- มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก
- มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ
- มีความเสี่ยงหรือเป็นโรคหลอดเลือดในอวัยวะอื่นๆ ที่ไม่ใช่หัวใจอยู่ก่อน
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูง
- เคยได้รับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ
- มักรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มเป็นประจำ
- สูบบุหรี่จัด หรือได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ
- พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับไม่สนิท และรู้สึกอ่อนเพลียเป็นประจำ
ทั้งนี้ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ ผู้ป่วยโรคหัวใจโต รวมถึงผู้สูงอายุที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้
ขั้นตอนการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)
- เจ้าหน้าที่จะติดอุปกรณ์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือแผ่นอิเล็กโทรด (Electrode) ที่บริเวณหน้าอก 6 จุด ที่แขนและขาอีก 4 จุด รวมเป็น 10 จุด และพันแผ่นผ้าวัดความดันโลหิตที่แขนอีก 1 จุด
- จากนั้นผู้เข้ารับการตรวจจะเริ่มเดินช้าๆ บนเครื่องเดินสายพาน (Treadmill) ซึ่งแพทย์ที่ทำการตรวจจะค่อยๆ เพิ่มความเร็วและความชันของสายพานไปเรื่อยๆ
- จะใช้เวลาในการเดินบนลู่วิ่งเฉลี่ยประมาณ 6-12 นาที จากนั้นจะเข้าสู่ระยะพัก (Recovery Stage) อีกประมาณ 5-10 นาที รวมเวลาการตรวจทั้งหมดราว 20-30 นาที
- ในระหว่างนั้นจะมีการวัดความดันโลหิตเป็นระยะๆ ร่วมด้วย
- ขณะทดสอบ หากผู้เข้ารับการตรวจมีภาวะหัวใจขาดเลือดจะส่งผลให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีการเปลี่ยนแปลง บางรายอาจเกิดอาการเจ็บหรือจุกแน่นหน้าอก ทั้งนี้การตรวจจะอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์เฉพาะทาง จึงมั่นใจได้ในความปลอดภัย กรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่สามารถเดินบนลูวิ่งได้ เช่น เป็นผู้สูงอายุ มักใช้การขี่จักรยานอยู่กับที่ (cycling) แทน
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนตรวจ โดยอาหารมื้อก่อนตรวจควรหลีกเลี่ยงชนิดไขมันสูง
- งดชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มาคาเฟอีนอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- งดสูบบุหรี่ 3-4 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- สวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่เหมาะกับการออกกำลังกาย โดยสามารถเตรียมมาเองหรือใช้ของทางโรงพยาบาลที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ก็ได้
- ผู้ที่รับประทานยารักษาโรคประจำตัวต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า เพื่อแพทย์จะพิจารณาให้งดยาบางอย่าง เช่น ยากลุ่มที่ทำให้หัวใจเต้นช้า (Beta-blockers) ที่ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติบางชนิด โรคต้อหิน โรควิตกกังวล ไมเกรน และไฮเปอร์ไทรอยด์ เป็นต้น
- ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดให้นำยาพ่นติดตัวมาด้วย
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรแจ้งแพทย์ที่รักษาโรคเบาหวาน เพื่อเตรียมยาให้เหมาะสมสำหรับวันที่เข้ารับการตรวจ
- แพทย์จะประเมินผลการตรวจจากกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยสามารถวินิจฉัยได้ถึงความเสี่ยงและการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยสามารถประเมินความเสี่ยงได้ดีในผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคระดับปานกลางขึ้นไป
- ประเมินโรคในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่เดิม เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นในการตรวจเพิ่มเติม หรือต้องทำการรักษาด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
- ประเมินประสิทธิภาพและผลการรักษาด้วยยา ในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่เดิม
- ประเมินและวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด
- ประเมินประสิทธิภาพและความสามารถสูงสุดของหัวใจในการออกกำลังกาย เพื่อวางแผนหรือกำหนดความหนักเบาและประเภทของการออกกำลังกายให้เหมาะสม
- ประเมินระดับความสามารถสูงสุดในการออกกำลังกายในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการรักษาแล้ว เพื่อติดตามผลการรักษา และเพื่อป้องกันการใช้แรงที่มากเกินไปของผู้ป่วย