รักษาหาย...ใช่ว่าจะจบ รู้จัก“Long COVID”อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อCOVID-19

แม้การรักษาโควิด -19 จะสามารถรักษาให้ได้แล้ว แต่โดยภาพรวมของปัญหาสุขภาพยังไม่ได้หมดไปอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะเมื่อหลังหายจากโควิด-19 ผู้ป่วยมักต้องเผชิญกับอาการที่เรียกว่า Post Covid Syndrome หรือ Long COVID

ภาวะลองโควิด (Long COVID) หรือ อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 จะมีความรุนแรงมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละบุคคล เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ และสามารถดูแลตัวเองหลังรักษาโควิด-19 หายแล้ว แนะนำให้ทำการฟื้นฟูร่างกายอย่างถูกวิธี เพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงได้มากที่สุด 

 

Long COVID คืออะไร ?

Long COVID (Post Covid Syndrome) หรือ อาการหลงเหลือหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ในระยะยาว มักพบใน ในช่วง 1-3 เดือนแรก พบได้ร้อยละ 30-50 ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว
โดยเฉพาะกลุ่มป่วยรุนแรง ซึ่งอาการแสดงของ “ภาวะลองโควิด” สามารถแสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตั้งแต่ระบบหายใจ, ระบบประสาท,ระบบทางเดินอาหาร, หัวใจ และหลอดเลือด โดยในแต่ละบุคคล จะมีอาการแตกต่างกันไม่ตายตัว

สาเหตุเนื่องจากในช่วงที่ป่วยโควิด-19 ร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีบางอย่างขึ้นมา และไปจับกับโปรตีนเซลล์ของอวัยวะบางส่วนในร่างกาย และไปทำลายอวัยวะส่วนต่างๆ  โดยอาจจะมีอาการ เช่น ไอ มีไข้ ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยล้า ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ ท้องเสีย เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง และบางรายอาจมีอาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย ส่งผลให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเดิม

ในเบื้องต้นหากผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 แล้วยังมีอาการที่กล่าวมา แนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและดูแลตัวเองให้ถูกวิธี

กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะพบอาการ Long COVID

อาการ Long COVID สามารถเกิดได้กับทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มคนเหล่านี้ ที่ในขณะติดเชื้อโควิด-19 มีอาการรุนแรง

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคที่เกิดกับระบบอวัยวะอื่นๆ และภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ

นอกจากนี่ยังพบอีกว่าสามารถเกิดได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายอีกด้วย

ลักษณะอาการแสดงหลัง COVID

กลุ่มอาการของผู้ป่วยหลัง Covid สามารถแบ่งออก เป็น 3 กลุ่มได้แก่

กลุ่มอาการ (Long Covid)

  • อ่อนเพลียเรื้อรัง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง ไม่สดชื่น
  • ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบากไม่อิ่ม รู้สึกแน่นๆ หน้าอก
  • นอนหลับ สมองไม่สดชื่น ความจำไม่ดีเหมือนเดิม ความจำสั้น สมาธิสั้น
  • ปวดตามข้อ เจ็บข้อหรือกล้ามเนื้อ รู้สึกจี๊ดๆ ตามเนื้อตัว หรือปลายมือปลายเท้า
  • มีไข้ แสบตา คันตา น้ำตาไหล
  • คัดจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป หรือพบอาการชาที่ลิ้นในบางราย
  • มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีผลกระทบทางจิตใจหลังเผชิญสถานการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder)

กลุ่มอาการแทรกซ้อน (Multiorgan effects of COVID-19)

  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (ประมาณ 15% ของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงของวัคซีนบางชนิด)
  • อาการเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • ไตวายเฉียบพลัน
  • ตับอักเสบเฉียบพลัน
  • มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท/ จิตใจ
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

รวมทั้งกลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (Multisystem inflammatory Syndrome : MIS) เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบของระบบต่าง ๆ โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ถ่ายเหลว ไตวาย ช็อก หลังป่วยเป็นโควิด-19 และหายแล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์

กลุ่มอาการข้างเคียง

ในกลุ่มอาการผลข้างเคียงจะมาจากการนอนโรงพยาบาลนานด้วยโรคอื่น ที่ผู้ป่วยเมื่อรักษาโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงมักต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต หรือ ICU เมื่อพ้นระยะวิกฤตมาแล้วจะเกิดภาวะ ‘หลัง ICU’ (Post-intensive Care Syndrome: PICS) เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู

วิธีดูแลหลังหายจากโควิดแล้วควรทำอย่างไร ?

  • สำหรับผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 และสามารถกลับบ้านได้แล้ว แต่หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น เช่น ไข้สูง หอบเหนื่อยง่าย มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก รู้สึกแขนขาอ่อนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อแยกโรคก่อนว่ามีภาวะเสี่ยงที่ต้องรีบรักษาเร่งด่วนหรือไม่
  • ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือเพิ่งตรวจพบโรคประจำตัวใหม่หลังรักษาโควิด-19 หาย ก็ควรกลับเข้ามารับการประเมินสุขภาพให้ครบถ้วนอีกครั้งหนึ่ง และทำการรักษาตามอาการที่แพทย์แนะนำ
  • ในผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ ควรได้รับการดูแลต่อเนื่องจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจร่วมกับทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • ผู้ป่วยที่มีความเครียด อ่อนล้า ปัญหาเรื่องการนอนที่สะสมมาตั้งแต่ตอนที่ติดเชื้อ สามารถติดต่อพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ
  • อาการ Long COVID เป็นผลจากความผิดปกติภายในร่างกาย เนื่องจากร่างกายยังฟื้นฟูไม่เต็มที่ ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดจึงควรให้ความสำคัญกับการสังเกตอาการตนเอง ดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดี ควรหาเวลาตรวจเช็กสุขภาพโดยรวมอีกครั้ง และแนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

การฟื้นฟูปอดหลังจากติดเชื้อ COVID-19 จำเป็นแค่ไหน?

การดูแลและฟื้นฟูสุขภาพหลังหายจากเชื้อจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและมีสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะสุขภาพปอด เพราะการติดเชื้อ COVD-19 ทำให้ปอดอักเสบ และมีเสมหะ อุดกั้นถุงลมปอด ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลงเกิดอาการเหนื่อยหอบไปจนถึงภาวะหายใจล้มเหลว

แม้จะหายจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้วก็ตาม แต่โควิด-19ยังทิ้งรอยโรคไว้ เช่น เกิดพังผืด และแผลเป็นในปอด ส่งผลให้สมรรถภาพของปอดลดลง รู้สึกหายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีเช่นเดิม ซึ่งหากตรวจสมรรถภาพทางปอด จะพบว่าสมรรถภาพทางปอดต่ำกว่าปกติ ซึ่งหากอยู่เฉยๆ อาจไม่ค่อยรู้สึก แต่หากต้องไปออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมหนักๆจะรู้สึกว่าเหนื่อยกว่าปกติมาก

ดังนั้นผู้ป่วยหลังหายจากโควิด-19 จึงควรเข้ารับการรักษาและฟื้นฟูปอด ซึ่งการฟื้นตัวของปอดหลังจากหายจากโรค COVID-19 จะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ
  • ช่วงแรก เป็นช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังจากหายจากโรค COVID-19 สิ่งที่จะพบคือ ยังพบฝ้าขาวที่ปอดในฟิล์มเอกซเรย์ แต่มีปริมาณเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงติดเชื้อ
  • ช่วงที่ 2 คือช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 หลังจากที่หายจากโรค ร่างกายจะมีการฟื้นฟูกลับมาบ้างแล้ว แต่จะยังรู้สึกว่าอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

การดูแลรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยโควิดและ Long COVID ประกอบไปด้วยแพทย์ผู้ชำนาญในสาขาต่างๆ ทีมพยาบาลวิชาชีพ ทีมเภสัชกรเฉพาะทาง และสหวิชาชีพ รวมถึงมีโปรแกรมที่ออกแบบตามอาการของแต่ละบุคคล (Personalized Treatment Program) อาทิ

  • การฟื้นฟูระบบทางเดินหายใจ และปอด
  • การรักษาด้วยยา
  • เวชศาสตร์ฟื้นฟู กายภาพบำบัด
  • การบำบัดรักษาภาวะซึมเศร้า
  • การฝึกการรับกลิ่น

รวมถึงการรักษาอาการร่วมอื่นๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหาร การติดเชื้อ ระบบประสาท จากแพทย์ผู้ชำนาญการ

ฟื้นฟูปอดหลังจากติดเชื้อ COVID-19 ที่ไหนดี

ปัจจุบันโรงพยาบาลพีเอ็มจี และโรงพยาบาลสหวิทยาการมะลิ ให้บริการทางการแพทย์ทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นสภาพด้วยการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิต และให้ความสำคัญกับทิศทางของ “Long COVID” ด้วยการเปิดให้บริการ โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพปอดหลังจากติดเชื้อ COVID-19 เพื่อให้คุณภาพชีวิตกลับมาเป็นปกติ

โปรแกรมฟื้นฟูร่างกาย สมรรถภาพปอด และระบบหายใจสำหรับผู้ป่วย covid-19 จะเหมาะสำหรับผู้ป่วยหลังกลับบ้าน โดยการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพปอด และระบบหายใจ สามารถช่วยให้ถุงลมในเนื้อปอดค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมายืดหยุ่นมากขึ้น ทางโรงพยาบาลมีการใช้เครื่องมือในการเพิ่มสมรรถภาพของปอดที่เรียกว่า Triflow หรือเครื่องบริหารปอด ในการฝึกดูดหรือเป่าโดยฝึกร่วมกับเทคนิคการหายใจแบบ ACBT เพื่อช่วยให้ปอดยืดหยุ่นฟื้นตัวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีการแนะนำแนวทางออกกำลังกาย เพื่อที่จะสามารถกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดังเดิม

สรุป

ผู้ที่รักษาโรคโควิด-19 หายหลังกลับบ้าน หากมีอาการผิดปกติควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็ก เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้ระยะเวลาที่มีความผิดปกตินั้นสั้นลง หรือโอกาสที่จะฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้เร็ว หรือในรายที่แม้จะไม่มีอาการ Long COVID แสดงชัดเจน ก็ควรกลับมาตรวจเช็กสุขภาพ เพื่อลดโอกาสเกิดโรคร้ายแรงในอนาคต

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคริดสีดวงถือเป็นปัญหาที่กวนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บปวดที่รบกวนทางกาย และรบกวนการใช้ชีวิตของใครหลายๆคน ปัจจุบันได้มีทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้ โดยที่เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวได้ไว และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การส่องกล้องกระเพาะอาหาร หรือ Gastroscopy ไม่เจ็บ สามารถวินิฉัยได้ตรงจุด ตรวจง่าย ปลอดภัย แพทย์สามารถเห็นสาเหตุที่เกิดรอยโรคชัดเจน

News and Subscribe

ท่านสามารถลงทะเบียนเพื่อสมัครรับข่าวสารและโปรโมชั่นแพคเกจ ผ่านทาง Email โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

Malcare WordPress Security