สิทธิประกันสังคมที่ใช้ได้ในโรงพยาบาล เจ็บป่วยโรคไหน ใครใช้ได้บ้าง?
ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ หรือเป็นผู้ประกันตนเอง รู้หรือไม่ว่าเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่จ่ายไปในแต่ละเดือนนั้น ให้สิทธิประโยชน์ทดแทนในด้านไหนบ้าง โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ ทั้งในกรณีเจ็บป่วยทั่วไป เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล หรือเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง และยังมีโรคอะไรที่เข้าข่ายได้รับการรักษาอีกบ้าง ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคมที่ใช้ได้ในโรงพยาบาลที่นำมาฝากกันนี้ เพื่อที่จะได้ไม่พลาดใช้สิทธิของตัวเอง

สิทธิประกันสังคม ตรวจรักษาอะไรได้บ้าง
สิทธิประกันสังคมที่ใช้ได้ในโรงพยาบาล ครอบคลุมการเจ็บป่วยปกติ เจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ ทันตกรรม บําบัดทดแทนไต ปลูกถ่ายไขกระดูก เปลี่ยนอวัยวะกระจกตา อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบําบัดรักษาโรค ติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ คลอดบุตร รักษาโรคจากการทำงานหรือออฟฟิศซินโดรม และตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีรายละเอียดดังนี้
เจ็บป่วยปกติ
เจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้น 14 โรคตามประกาศของสำนักงานประกันสังคม เช่น เสริมสวย รักษาการมีบุตรยาก ผสมเทียม แว่นตา ใช้สารเสพติด เปลี่ยนเพศ หรือฆ่าตัวตาย จะไม่สามารถใช้สิทธิได้
เจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ
กรณีที่เข้าข่ายการเจ็บป่วยฉุกเฉินจะมี 6 อาการด้วยกัน ได้แก่
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
- หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง
- ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
- เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
- แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
- มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
แบ่งการรักษาออกเป็น 2 กลุ่ม
- โรงพยาบาลรัฐบาล เบิกค่ารักษาได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็น เบิกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ต้องไม่เกินระยะเวลา 72 ชั่วโมง ค่าห้องและค่าอาหารไม่เกิน 700 บาท/วัน
- โรงพยาบาลเอกชน กรณีผู้ป่วยนอก เบิกค่ารักษาได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,000 บาท/ครั้ง กรณีผู้ป่วยใน ไม่เกิน 2,000 บาท/ครั้ง ค่าห้องและค่าอาหาร ไม่เกิน 700 บาท/วัน
โดยสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล สำรองจ่ายไปก่อนและนำหลักฐานไปเบิกขอเงินคืนได้

กรณีอื่น ๆ เพิ่มเติม
- ค่าห้อง (ICU) เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 4,500 บาท/วัน
- ค่าห้องผ่าตัดใหญ่ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง 8,000-16,00 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนชั่วโมงที่ได้รับการผ่าตัดกรณีฉุกเฉิน เบิกได้ไม่เกิน 4 ครั้ง/ปี (ผู้ป่วยนอก 2 ครั้ง ผู้ป่วยใน 2 ครั้ง) กรณีอุบัติเหตุ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
- ค่าทำ CT Scan เบิกได้ไม่เกิน 4,000 บาท/ครั้ง
- ค่าทำ MRI เบิกได้ไม่เกิน 8,000 บาท/ครั้ง
- ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือเอกซเรย์ เบิกได้ไม่เกิน 1,000 บาท/ครั้ง
- ค่าฟื้นคืนชีพรวมค่ายาและอุปกรณ์ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 4,000 บาท/ครั้ง
Dentist Center
- ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด 900 บาท/ครั้ง/ปี
- ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน ไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
- ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก ไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี
โดยสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล สำรองจ่ายไปก่อนและนำหลักฐานไปเบิกขอเงินคืนได้
บําบัดทดแทนไต (โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย)
- ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 1,500 บาท/ครั้ง ไม่เกิน 4,500 บาท/สัปดาห์
- เตรียมเส้นเลือดสำหรับฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมพร้อมอุปกรณ์ ไม่เกิน 20,000 บาท/2 ปี
- ตรวจรักษาและน้ำยาล้างช่องท้องพร้อมอุปกรณ์ ไม่เกิน 20,000 บาท/เดือน
- วางท่อรับส่งน้ำยาเข้าออกช่องท้องพร้อมอุปกรณ์ ไม่เกิน 20,000 บาท/2 ปี
- ผ่าตัดปลูกถ่ายไต ก่อน-ระหว่าง-หลัง การปลูกถ่ายไต และรับยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
ปลูกถ่ายไขกระดูก
- ค่าบริการทางการแพทย์ นับแต่วันที่เริ่มต้นเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อทำการปลูกถ่ายไขกระดูก จนถึงวันที่ได้รับการไขกระดูก (stem cell) เหมาจ่าย 500,000 บาท
- ค่าบริการทางการแพทย์นับตั้งแต่วันที่ได้รับไขกระดูก (stem cell) จนถึงวันที่ออกจากโรงพยาบาล เหมาจ่าย 250,000 บาท
เปลี่ยนอวัยวะกระจกตา
- ค่าบริการทางการแพทย์แก่โรงพยาบาล เหมาจ่าย 35,000 บาท
- ค่าจัดเก็บและรักษาคุณภาพดวงตาแก่สภากาชาดไทย 15,000 บาท/ดวงตา
อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบําบัดรักษาโรค
เบิกได้ตามรายการประกาศที่สำนักงานประกันสังคมกําหนด เช่น กะโหลกศีรษะเทียม กระดูกหูเทียม เท้าเทียม แขนเทียม ไม้ค้ำยัน รถนั่งคนพิการ ฯลฯ
ติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์
- ค่าตรวจ CD4 เหมาจ่ายครั้งละ 500 บาท ปีละไม่เกิน 1,000 บาท/คน
- ค่าตรวจ Viral Load เหมาจ่ายครั้งละ 2,500 บาท ปีละไม่เกิน 5,000 บาท/คน
- ค่าตรวจ Drug resistance ครั้งละ 8,500 บาท/คน/ปี
- ค่ายาต้านไวรัสเอชไอวี ในผู้ติดเชื้อทุกรายในทุกระดับ CD4 สูตรยาต้านไวรัส ให้เป็นไปตามแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
คลอดบุตร
- เหมาจ่าย 13,000 บาท/การคลอดบุตร 1 ครั้ง
- ใช้สิทธิได้ 2 คน
- รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เหมาจ่ายในอัตรา 50% ของเงินเดือน (ฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) เฉลี่ย 90 วัน
ค่าคลอดเหมาจ่าย 13,000 บาท จะรวมค่าใช้จ่ายตั้งแต่ฝากครรภ์ การคลอด การดูแลหลังคลอดและการบริบาลทารกปกติ สามารถเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ แต่ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร
รักษาโรคจากการทำงาน/ออฟฟิศซินโดรม
มีอาการป่วย เช่น อาการปวดหลัง บ่า ไหล่ ข้อมือ ปวดต้นคอ ปวดหัว หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อันมีสาเหตุมาจากการทำงานหนัก สามารถขอใช้สิทธิประกันสังคมที่ใช้ได้ในโรงพยาบาลได้ฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
ในกรณีที่รับการรักษาที่นอกเหนือจากคำสั่งของแพทย์ เช่น การฝังเข็ม หรือครอบแก้ว หากแพทย์วินิจฉัยว่าไม่จำเป็น ผู้ประกันตนต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่ม ตามอัตราค่ารักษาจริง

ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือจังหวัดที่มีการควบคุมในระดับสูงสุด สามารถขอตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ฟรี โดยประกันสังคมจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายดังนี้
- ค่าบริการทางการแพทย์ซึ่งเป็นค่าตรวจคัดกรองเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยเทคนิค Real Time PCR ประกันสังคมจะจ่ายให้ 1,600 บาท ตามระเบียบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข
- ค่ารักษาพยาบาลจนเสร็จสิ้นกระบวนการจนกระทั่งรักษาหายจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
- ค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องแล็บในอัตราที่จ่ายจริงในราคาแบบเหมาจ่ายในอัตราครั้งละไม่เกิน 600 บาท
สิทธิการรักษาตามมาตรา
สิทธิการรักษาในโรงพยาบาลโดยใช้ประกันสังคม จะต้องเป็นผู้ประกันตนใน 3 มาตรา คือ มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งนอกจากสิทธิประกันสังคมที่ใช้ได้ในโรงพยาบาล ยังได้รับสิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น ว่างงาน สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ และเสียชีวิต
มาตรา 33
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คือ พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี
โดยต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน คิดเป็นสัดส่วนดังนี้ ลูกจ้าง 5% + นายจ้าง 5% + รัฐบาล 2.75% ของฐานเงินค่าจ้าง ขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
- เจ็บป่วย
- คลอดบุตร
- สงเคราะห์บุตร
- ทุพพลภาพ
- ชราภาพ
- เสียชีวิต
- ว่างงาน
มาตรา 39
ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 คือ บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน
การสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้ มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ โดยผู้ประกันตนต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
- เจ็บป่วย
- คลอดบุตร
- สงเคราะห์บุตร
- ทุพพลภาพ
- ชราภาพ
- เสียชีวิต
มาตรา 40
ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 นี้ คือ บุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39
โดยผู้ที่จะสมัครประกันสังคมในมาตรา 40 ต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี มีสิทธิประโยชน์ให้เลือก 3 ทางเลือก ได้แก่
ทางเลือก 1 จ่าย 100 บาท ต่อเดือน
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
- เจ็บป่วย
- ทุพพลภาพ
- เสียชีวิต
ทางเลือก 2 จ่าย 150 บาท ต่อเดือน
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
- เจ็บป่วย
- ทุพพลภาพ
- เสียชีวิต
- ชราภาพ
ทางเลือก 3 จ่าย 300 บาท ต่อเดือน
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
- เจ็บป่วย
- ทุพพลภาพ
- เสียชีวิต
- ชราภาพ
- สงเคราะห์บุตร
ขั้นตอนการเปลี่ยนสิทธิประกันสังคมด้วยตัวเอง
การเปลี่ยนสิทธิประกันสังคมด้วยตัวเอง สามารถทำได้ 3 ช่องทาง ตามขั้นตอน ดังนี้
สำนักงานประกันสังคม
- ดาวน์โหลดแบบการเลือกสถานพยาบาลในการรับบริการทางการแพทย์ (สปส.9-02) คลิกดาวน์โหลด
- จากนั้นกรอกข้อมูลต่าง ๆ แล้วนำไปยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศ
- ยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคม จะใช้แบบฟอร์ม สปส.9-02 และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม
- เข้าเว็บไซต์ www.sso.go.th ทำการสมัครสมาชิกให้เรียบร้อย
- เมื่อสมัครสมาชิกแล้ว ทำการ Login เข้าเว็บไซต์ แล้วคลิกที่ “ผู้ประกันตน”
- ทำการคลิกที่ “ยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล”
- เลือกเหตุผลการเปลี่ยนสิทธิ “เปลี่ยนประจำปี” หลังจากนั้นคลิกที่ “เลือกสถานพยาบาลใหม่”
- จากนั้นทำการเลือกสถานพยาบาลใหม่
- เมื่อเลือกโรงพยาบาลได้แล้ว ติ๊กยอมรับเงื่อนไขและข้อตกลง แล้วกด “บันทึก” เป็นอันเรียบร้อย

แอปพลิเคชัน SSO Connect
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SSO Connect ของสำนักงานประกันสังคม
- iOS : คลิกดาวน์โหลด Android : คลิกดาวน์โหลด
- จากนั้นลงชื่อเข้าสู่ระบบ (ผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนให้ลงทะเบียนก่อน)
- เลือก “เปลี่ยนโรงพยาบาล”
- กรอกข้อมูล และเลือกโรงพยาบาลที่ต้องการเปลี่ยน
- อ่านหลักเกณฑ์และรายละเอียดต่าง ๆ จากนั้นกด “ยอมรับเงื่อนไขและข้อตกลง” และ “ยืนยัน”