ป่วยเป็นโรคอะไร ถึงต้องสวนหัวใจ 2023

doctor-shows-plastic-model-ventricle-heart-blurry-1

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคร้ายที่ไม่แสดงอาการชัดเจน เกิดได้จากการเกาะตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ส่งผลต่อการลำเลียงออกซิเจน ต้นเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย แต่โรคนี้สามารถรักษาได้ด้วย “การสวนหัวใจ” เพื่อตรวจสอบและขยายหลอดเลือด

สวนหัวใจ คืออะไร?

     การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดแดงที่หัวใจ เป็นการตรวจหัวใจด้วยการใส่สายสวนหัวใจผ่านผิวหนังเข้าไปที่หัวใจและหลอดเลือด ผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ หรือที่ข้อมือ  หลังจากนั้นจะทำการฉีดสารทึบรังสีและถ่ายภาพเอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจชนิดที่เป็นภาพเคลื่อนไหวได้ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ ว่ามีการตีบแคบ หรืออุดตันหรือไม่?

บริเวณสวนหัวใจ และข้อดี

การสวนหลอดเลือดหัวใจปัจจุบันสามารถทำได้ 2 จุดหลัก คือ บริเวณขาหนีบและบริเวณข้อมือ
1. การสวนหลอดเลือดหัวใจบริเวณขาหนีบ (Femoral Artery) โดยใช้ยาชาเฉพาะที่  ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30-60 นาที หลังจากทำเสร็จจะดึงสายสวนออก และกดบริเวณขาหนีบประมาณ 15 นาที โดยไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยจึงต้องนอนราบ และห้ามงอขาหนีบ 6-8 ชั่วโมง ไม่สามารถลุกนั่ง หรือเดินได้ในทันที
2. สำหรับการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านบริเวณข้อมือ (Radial Artery) สามารถทำผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือได้ โดยใช้ระยะเวลาพักฟื้น 4-8 ชม. หลังการทำหัตถการสามารถลุก นั่ง หรือยืนได้ทันที มีเพียงสายรัดข้อมือ (TR band) ที่ใส่ไว้เพียงไม่นาน โดยแพทย์ต้องมีความชำนาญในวิธีนี้
      อีกทั้ง ยังมีข้อดีหลายประการ โดยเฉพาะคนไข้ที่อ้วนมาก และมีภาวะหลอดเลือดขาส่วนปลายตีบ การทำบริเวณข้อมือเป็นทางเลือกที่ดี แต่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้ สำหรับกรณีที่ต้องสงวนรักษาหลอดเลือดแดงที่ข้อมือไว้เพื่อใช้รักษากรณีอื่น เช่น การฟอกไต เป็นต้น

เมื่อไหร่ถึงควรสวนหัวใจ

1. ในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ เช่น มีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น

2. ผู้ที่มีความเสี่ยงภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ เช่น เป็นความดันหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน

3. ผู้ที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจระยะพักหรือเมื่อออกกำลังกายผิดปกติ

4. ผู้ที่กำลังจะได้รับการผ่าตัดหัวใจ

การเตรียมตัวก่อนสวนหัวใจ

1. พยาบาลจะสอบถามประวัติแพ้ยาและแพ้อาหารทะเล โรคประจำตัวและยาที่รับประทานประจำ โดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือดควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และนำมาให้ดู

2. ตรวจร่างกายทั่วไป ผู้ป่วยและญาติรับฟังการอธิบายจากแพทย์ และเจ้าหน้าที่และเซ็นยินยอมรักษา

3. คืนก่อนตรวจแพทย์จะสั่งงดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมงก่อนทำ

4. วันทำการสวนหัวใจ พยาบาลจะเจาะเลือดและให้สารน้ำตามแผนการรักษาแพทย์

5. ทำความสะอาดผิวหนังและโกนขนบริเวณที่จะทำการเจาะเพื่อใส่สายสวนหัวใจ

การดูแลตัวเองหลังสวนหัวใจ

ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 คืน ระหว่างอยู่โรงพยาบาลต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้
1. นอนราบบนเตียง ห้ามงอขาหรืองอมือ ข้างที่ทำ 6 – 12 ชั่วโมง หรือตามคำแนะนำของแพทย์
2. สังเกตบริเวณแผลที่ใส่สายสวนหัวใจ หากมีเลือดออก หรือมีอาการผิดปกติให้แจ้งพยาบาลทันที
3. หากไม่มีอาการผิดปกติแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ในวันถัดไป

บทความทางการแพทย์