รู้ทัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพา 24 ชั่วโมง
หัวใจเต้นผิดจังหวะ รู้ได้ด้วยการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม.
แพทย์จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยมีภาวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ? ถือเป็นปัญหาสำคัญในการวินิจฉัย เพราะอาการที่เกิดขึ้นมักเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ไม่นานพอที่จะมาตรวจพบที่โรงพยาบาล ดังนั้นการตรวจจับความผิดปกติในการเต้นของหัวใจแม้อยู่ที่บ้านหรือที่ทำงาน แพทย์จึงจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวินิฉัย ด้วยการใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัวตลอด 24 ชั่วโมง (Holter Monitoring)
รู้จักการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว
การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว เป็นการตรวจติดตามภาวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว (Holter Monitoring) ตลอด 24 ชม. ไว้กับตัว โดยที่อุปกรณ์ประกอบด้วยกล่องที่มีขนาดเล็กสำหรับบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยที่เครื่องนี้จะเชื่อมต่อกับสายที่ยึดติดกับแผ่น Electrode ที่ติดบริเวณผิวหนัง เมื่อติดเครื่อง Holter Monitoring แล้วสามารถกลับไปพักที่บ้านหรือทำงานได้ตามปกติ ไม่ต้องเสียเวลานอนพักที่โรงพยาบาล และเมื่อครบกำหนด 24 ชม. แล้วจึงกลับมาถอดเครื่องคืนในวันถัดไป และรอรับทราบผลการตรวจวิเคราะห์จากแพทย์ การตรวจวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาจจะมีปัญหาใจสั่นผิดปกติเป็นประจำ หน้ามืด วูบ เป็นลมหมดสติ โดยไม่ทราบสาเหตุ
เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Holter Monitoring) ใช้สำหรับอะไร?
- ใช้สำหรับประเมินคลื่นไฟฟ้าหัวใจในผู้ป่วยที่มีอาการใจสั่น (Palpitation) หรือความรู้สึกว่าหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ (Skipping)
- ใช้สำหรับประเมินผู้ป่วยที่มาด้วยอาการหน้ามืดหรือเป็นลม เพื่อวินิจฉัยแยกโรคว่ามีสาเหตุจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่
- ใช้สำหรับประเมินอัตราการเต้นเฉลี่ยของชีพจร และการตอบสนองของการเต้นของชีพจรใน ขณะที่คุณกำลังทำกิจกรรมต่างๆ
- ใช้สำหรับประเมินประสิทธิภาพหลังการรักษาทั้งจากการรักษาด้วยยาหรือการรักษาด้วยการทำหัตถการ
ขั้นตอนและข้อปฏิบัติตัวขณะติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
เจ้าหน้าที่จะทำการติดแผ่นอิเลกโทรด (Electrode) ที่บริเวณหน้าอกของผู้ป่วย สำหรับคุณผู้ชายหากบริเวณหน้าอกมีขนค่อนข้างมากอาจจะต้องขออนุญาตทำการโกนขนบริเวณหน้าอกออกบางส่วน เพื่อทำให้ติดแผ่น Electrode ให้แนบกับผิวหนังหน้าอกได้ดียิ่งขึ้นและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจะทำการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Holter Monitoring) พร้อมทั้งคำแนะนำการปฏิบัติตัว และการดูแลรักษาเครื่องขณะทำการตรวจ
- ผู้ที่ติดเครื่อง Holter สามารถทำงานหรือกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ตามปกติยกเว้นห้ามอาบน้ำ ว่ายน้ำ หรือทำให้เครื่องและบริเวณที่ติดสายและขั้วต่อเปียก ห้ามออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวของแขนมาก ห้ามทำการ X-Ray ในขณะที่ยังติดเครื่องอยู่ หลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณที่มีสายไฟแรงสูง หรือบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือบริเวรที่มีเครื่องตรวจจับโลหะ
- สามารถนำเครื่อง Holter ใส่กระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกงไว้ได้ แต่จะใส่กระเป๋าและเข็มขัดไว้ให้แล้วอย่างเรียบร้อย สามารถสะพายติดตัวไว้ได้ แต่ห้ามทำเครื่องตก
- ที่ตัวเครื่องจะมีปุ่มสำหรับใช้กดเมื่อรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น
- โรคผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจมีรูแต่กำเนิด (เกิดจากความผิดปกติของการปิดผนังขณะเป็นตัวอ่อน) ลิ้นหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
- เมื่อครบกำหนด 24 ชม.จึงกลับมาถอดเครื่องคืนในวันถัดไป เพื่อรับผลวินิจฉัย