ตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพประจำปี รู้เท่าทัน ป้องกันโรคร้าย
การตรวจสุขภาพประจำปี คือ การตรวจร่างกายโดยรวมเพื่อหาความผิดปกติหรือความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ ฯลฯ หรือสอบถามพฤติกรรมในช่วงนี้เพื่อประเมินร่วมกับโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
- ค้นพบโรคได้เร็ว ช่วยให้พบโรคในระยะเริ่มต้น ซึ่งมักรักษาได้ง่ายและมีโอกาสรอดชีวิตสูง
- ป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้น หรือลดความเสี่ยงที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรค แพทย์สามารถให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ
- ลดค่าใช้จ่าย การรักษาโรคในระยะเริ่มต้นมักมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาในระยะรุนแรง
- สร้างความมั่นใจ การที่ทราบถึงสุขภาพของตนเองจะช่วยเสริมกำลังใจในการดูแลสุขภาพ และป้องกันสุขภาพต่อไป
รายการตรวจสุขภาพประจำปีอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ สุขภาพ และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยทั่วไปจะรวมถึง
การซักประวัติ แพทย์จะซักถามเกี่ยวกับประวัติสุขภาพส่วนตัว และครอบครัวพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกาย ฯลฯ เพื่อวินิจฉัยความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ
การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกาย ตรวจวัดน้ำหนักและส่วนสูง ตรวจดูสภาพผิวหนัง ผม เล็บ ฟัน ตา หู คอ จมูก ปอด หัวใจ ช่องท้อง อวัยวะเพศ ฯลฯ
การตรวจเพิ่มเติม อาจมีการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้
การเจาะเลือด ตรวจวัดระดับน้ำตาล ไขมัน คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ฟังก์ชั่นการทำงานของไต ตับ ฮอร์โมน ฯลฯ
การตรวจปัสสาวะ ตรวจหาสารต่างๆ ในปัสสาวะ เช่น โปรตีน น้ำตาล เม็ดเลือดขาว ฯลฯ
การเอกซเรย์ เอกซเรย์ปอด ทรวงอก กระดูก ฯลฯ
การตรวจอัลตราซาวด์ ตรวจอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต มดลูก ฯลฯ
การตรวจคัดกรองมะเร็ง ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ ฯลฯ
ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพประจำปี
- ทุกคนควรตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะ ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรตรวจสุขภาพประจำปีตามคำแนะนำของแพทย์
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อสุขภาพ
- ผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี
- งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- แจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาที่รับประทานเป็นประจำ
- สวมเสื้อผ้าที่ถอดใส่สะดวก
- แจ้งแพทย์เกี่ยวกับประวัติสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ