โควิดในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายต่อทารกหรือไม่? มีวิธีดูแลตัวเองอย่างไรในสถาการณ์โควิด-19

ในสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19 หญิงตั้งครรภ์เป็น 1 ใน 6 กลุ่มเปราะบาง เนื่องจากมีความเสี่ยงของโรคที่รุนแรงกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า และต้องระวังเป็นอย่างมากโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในไตมาสที่ 3 (นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 29-42) ซึ่งมีความเสี่ยงเกิดภาวะปอดอักเสบได้สูง

โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเมื่อหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด มีอัตราการเสียชีวิต 1.85% สูงกว่าคนทั่วไปถึง 2.5 เท่า และกว่าครึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ยังไม่ได้คลอดบุตร

จะเห็นได้ว่าภาวะของโรคโควิด-19 เป็นอันตรายอย่างมากต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งท้อง ในบทความนี้เราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโควิดในหญิงตั้งครรภ์ การรักษา การป้องกัน รวมไปถึงการฉีดวัคซีน เพื่อให้คุณแม่สามารถรับมือเชื้อไวรัสอันตรายนี้ได้อย่างปลอดภัย

หญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด ส่งผลต่อสุขภาพทารกในครรภ์หรือไม่?

คุณแม่หลายท่านคงกังวลว่าหากเกิดติดเชื้อโควิด อันตรายไหม จะส่งผลต่อสุขภาพทารกในครรภ์อย่างไรบ้าง โดยสามารถสรุปความเสี่ยงเกี่ยวกับทารกได้ ดังนี้

1. ทารกติดเชื้อโควิดจากแม่
การติดเชื้อโควิดจากแม่สู่ลูกนั้น มีโอกาส 2-5% ของหญิงตั้งครรภ์ทั่วโลก โดยส่วนมากจะเป็นคุณแม่ท้องแก่ และยังไม่มีผลวิจัยที่ชัดเจนว่าทารกได้รับเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์หรือหลังคลอด ต่างจากผู้ที่มีอายุครรภ์น้อย การที่ทารกจะมีโอกาสติดเชื้อจากแม่นั้นน้อยมาก
2. ทารกคลอดก่อนกำหนด
มีรายงานการคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด แต่ยังไม่มีการวิจัยที่ชัดเจนที่กล่าวได้ว่าโควิด-19 จะส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด สาเหตุอาจเกิดได้จากภาวะความเครียด หรือเป็นเหตุผลทางการแพทย์ที่ต้องทำคลอดก่อนกำหนด เพื่อรักษามารดาที่มีภาวะออกซิเจนต่ำ
3. การแท้งบุตร / ทารกเสียชีวิตในครรภ์ /ทารกพิการในครรภ์
ยังไม่พบภาวะการแท้งบุตร / ทารกเสียชีวิตในครรภ์ /ทารกพิการในครรภ์ ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิดมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป

อันตรายจากภาวะแทรกซ้อน โควิดในหญิงตั้งครรภ์

อาการของโควิด-19 อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ที่อันตรายได้ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง เลือดออกง่ายกว่าปกติ หลอดเลือดอุดตันที่ปอด รกลอกก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อยกว่ากำหนด เกิดภาวะปอดแฟบตามธรรมชาติ และทำให้เกิดภาวะการหายใจล้มเหลวได้

เมื่อหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด ควรปฏิบัติอย่างไร?

หากทราบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ ด้วยอัตราการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น ทั้งอาการปอดอักเสบและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด

การรักษาโควิดในหญิงตั้งครรภ์

ปกติในช่วงตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่างอยู่แล้ว เช่น ระบบภูมิคุ้มกันเปลี่ยนแปลง ประสิทธิภาพในการทำงานของปอดลดลง ในขณะที่ร่างกายต้องใช้ออกซิเจนมากขึ้น ทำให้เมื่อเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้


โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เชื้อไวรัส COVID-19 มีการกลายพันธุ์ ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะปอดอักเสบได้ง่าย ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์เมื่อมีอาการปอดอักเสบ จะทำให้ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนจากแม่ไม่เพียงพอ ผลที่ตามมาคือเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด
การรักษาโควิดในหญิงตั้งครรภ์ จึงเป็นความท้าทายของแพทย์ที่ต้องรักษาทั้งแม่และทารกในครรภ์ไปพร้อมกัน ซึ่งมีความซับซ้อนกว่าการรักษาในบุคคลทั่วไป ทั้งในเรื่องของข้อจำกัดในการให้ยาบางชนิด ที่ต้องคำนึงถึงอายุครรภ์และทารก การไม่สามารถนอนคว่ำเพื่อให้ออกซิเจนเพิ่มขึ้นได้ เพิ่มโอกาสที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ


ทั้งนี้ยังไม่มีการข้อห้ามหรือข้อแนะนำให้ชะลอแผนการตั้งครรภ์ เพียงแต่คุณแม่ต้องวางแผนการรับมือและป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ฝากครรภ์และให้อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

 

หากเป็นโควิด ให้นมลูกได้ไหม?

หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโควิดสามารถให้นมลูกได้ โดยยังไม่มีรายงานว่าเชื้อไวรัสโควิดมีการติดต่อผ่านทางน้ำนม แต่ควรเพิ่มข้อปฏิบัติเพื่อความสะอาด ปลอดเชื้อ ได้แก่

  1. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  2. ล้างมือ ทำความสะอาดบริเวณเหัวนมและเต้านม
  3. หากปั๊มนม ควรทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อภาชนะ
  4. ให้คุณพ่อหรือคนในครอบครัวที่ไม่ได้ติดโควิดเป็นคนป้อนนมแทน

สำหรับคุณแม่ที่ต้องรับประทานยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และดารุนาเวียร์ (Darunavir) แนะนำให้งดการให้นมลูก ในส่วนยาต้านไวรัสชนิดอื่น ๆ สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ

ข้อแนะนำในการดูแลตัวเองสำหรับหญิงตั้งครรภ์ในช่วงโควิด

เพื่อให้สามารถผ่านช่วงสถานการณ์โรคระบาดไปได้อย่างปลอดภัย มีข้อแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ควรเข้มงวดในการดูแลตัวเอง ทั้งการรักษาระยะห่างตามมาตรการ หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย ห้ามให้มือสัมผัสตา จมูก ปาก และหลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนเพียงพอ และรับประทานวิตามินได้ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อรักษาร่างกายของตนและทารกให้แข็งแรงอยู่เสมอ รวมไปถึงการฉีดวัตซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อลดความรุนแรงของโรคหากมีการติดเชื้อ

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์มีความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นกลุ่มที่ 8 ต่อจากผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว โดยในวันที่เข้ารับการฉีดวัคซีน ต้องมีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป และไม่ควรฉีดพร้อมกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ หลังจากแม่ได้รับวัคซีนแล้ว ยังพบภูมิต้านทานโควิดในเด็กบางรางที่คลอดออกมาด้วย

*ควรปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ก่อนเข้ารับวัคซีน

กำลังให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ไหม?

คุณแม่หลังคลอดที่กำลังให้นมบุตร สามารถรับวัคซีนได้เช่นเดียวกัน ไม่มีผลข้างเคียงต่อทารก และไม่จำเป็นต้องหยุดให้นมบุตร

สรุป

ถึงแม้อาการโควิดในหญิงตั้งครรภ์จะไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่ก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า โดยเฉพาะในช่วงที่เชื้อไวรัสมีการกลายพันธ์ุ มีความเสี่ยงที่เชื้อลงปอดและเกิดภาวะปอดอักเสบได้ง่าย ดังนั้นสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด ฉีดวัคซีน เว้นระยะห่างทางสังคม (SOCIAL DISTANCING) เพื่อให้ผ่านสถานการณ์โรคระบาดนี้ไปได้อย่างปลอดภัยทั้งแม่และลูก

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคริดสีดวงถือเป็นปัญหาที่กวนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บปวดที่รบกวนทางกาย และรบกวนการใช้ชีวิตของใครหลายๆคน ปัจจุบันได้มีทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้ โดยที่เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวได้ไว และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การส่องกล้องกระเพาะอาหาร หรือ Gastroscopy ไม่เจ็บ สามารถวินิฉัยได้ตรงจุด ตรวจง่าย ปลอดภัย แพทย์สามารถเห็นสาเหตุที่เกิดรอยโรคชัดเจน

สมัครรับข่าวสาร

ท่านสามารถลงทะเบียนเพื่อสมัครรับข่าวสารและโปรโมชั่นแพคเกจ ผ่านทาง Email โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

Malcare WordPress Security