นิ้วล็อค ภัยเงียบยุคสมาร์ทโฟน (Trigger Finger)
อาการนิ้วล็อค คือ อาการที่งอหรือเหยียดนิ้วมือลำบาก (ส่วนใหญ่มักมีอาการงอแล้วเหยียดลำบาก) เป็นโรคที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุหลักของอาการปวดบริเวณฝ่ามือ โรคนี้ไม่มีอันตรายใดแต่อาจทำให้มีอาการปวดบริเวณฝ่ามือ และใช้งานมือได้ไม่ถนัด โรคนี้สามารถป้องกัน และรักษาให้หายได้ อาการนิ้วล็อคเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็น และปลอกหุ้มเอ็นซึ่งทำให้เส้นเอ็นที่อักเสบมีลักษณะหนาตัวขึ้น และอาจจะคลำได้เป็นก้อนบริเวณโคนนิ้ว เมื่อเส้นเอ็นหนาขึ้นทำให้เวลาเคลื่อนไหวนิ้วมือ เส้นเอ็นผ่านปลอกหุ้มเอ็นได้ลำบาก ทำให้เกิดอาการเจ็บเวลาเคลื่อนไหวนิ้วมือ และมีอาการสะดุดหรือนิ้วล็อคไม่สามารถขยับได้ตามลำดับ
สาเหตุของนิ้วล็อคเกิดจากการที่มีแรงกดทับหรือแรงเสียดสีของเส้นเอ็นซ้ำซาก หรือใช้งานฝ่ามือมาก ๆ เช่น การใช้งานมือหยิบจับสิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ จึงทำให้พบโรคนี้บ่อยในกลุ่มแม่บ้าน ช่าง นักกีฬาบางประเภท เช่น นักกอล์ฟ นักเทนนิส พนักงานออฟฟิศที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือพิมพ์ดีดนาน ๆ นอกจากนี้ยังอาจพบได้ในคนที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน (Diabetes) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นต้น
การรักษานิ้วล็อคเริ่มจากการดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิด เช่น ลดการใช้งานบางประเภท ถ้าจำเป็นต้องกำหรือจับสิ่งของแน่น ควรใช้ถุงมือ ใช้ผ้าหรือฟองน้ำพันรอบด้ามเพื่อช่วยลดแรงกด แช่มือในน้ำอุ่นในตอนเช้าถ้ามีอาการข้อฝืด บริหารโดยการกำแบมือเบาๆ ไม่ควรกำนิ้วมือจนล็อคแล้วใช้นิ้วมือง้างออกบ่อยๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากขึ้น หากมีอาการมากขึ้นแนะนำให้พบแพทย์ ซึ่งการรักษามีทั้งการให้ยา ฉีดยา การทำกายภาพบำบัด การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว และการผ่าตัด