ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร? โรคฮิตของมนุษย์เงินเดือน รู้วิธีป้องกันและดูแลตัวเอง
หลายคนที่เพิ่งมีอาการเริ่มต้นอาจจะชะล่าใจ คิดว่าเป็นอาการปวดเมื่อยธรรมดา อาจส่งผลรุนแรงขึ้นในระยะยาว ในบทความความนี้จึงจะพาไปรู้จักโรคออฟฟิศซินโดรม ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันและรักษาได้อย่างทันท่วงที
ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร?
โรคออฟฟิศซินโดรม คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) ซึ่งอาจลุกลามกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง รวมถึงมีอาการจากปลายประสาทที่ถูกกดทับอย่างต่อเนื่องผู้มีอาการมักเริ่มจากปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง เมื่อปล่อยให้เรื้อรังก็จะมีปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย

โรคออฟฟิศซินโดรม เกิดจากอะไร?
สาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรม เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน เช่น การก้มเล่นโทรศัพท์มือถือ การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ในท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน โดยที่ไม่มีการขยับเคลื่อนไหว หรือเปลี่ยนอิริยาบถเลย รวมไปถึงอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหลังค่อม การนั่งไว้ห้าง จึงมักพบในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่พฤติกรรมการทำงานเอื้อต่อการเป็นออฟฟิศซินโดรมได้ง่าย
เมื่ออยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ กล้ามเนื้อจะเกร็งตัวสะสมจนเกิดเป็นก้อนตึง คลำพบกล้ามเนื้อแข็งตึงเป็นลำได้ ซึ่งจะไป ขัดขวางการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดของกล้ามเนื้อในบริเวณนั้น เกิดเป็นอาการปวดตามมา
อาการออฟฟิศซินโดรม ที่พบได้บ่อย
ลักษณะสัญญาณเตือนออฟฟิศซินโดรมที่พบได้บ่อย ได้แก่
- อาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด จะปวดเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก และปวดเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน อาการปวดเป็นได้ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยจนถึงปวดรุนแรงทรมาน
- อาการทางระบบประสาท จะเป็นอาการชาบริเวณมือและแขน จากการที่ปลายประสาทถูกกดทับ หากปล่อยไว้เป็นเวลานานจะเกิดอาการอ่อนแรงที่อวัยวะนั้นด้วย
- อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ จะมีอาการ วูบ เย็น เหน็บ ซ่าและมีเหงื่อออกในบริเวณที่มีอาการปวด บริเวณคออาจมีอาการตาพร่า มึนงง หูอื้อ
นอกจากนี้ ออฟฟิศซินโดรม อาจพบร่วมกับอาการอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น เอ็นข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (Carpal Tunnel Syndrome), นิ้วล็อค (Trigger Finger),

วิธีสังเกตอาการโรคออฟฟิศซินโดรมด้วยตัวเอง
วิธีสังเกตว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมหรือไม่ สังเกตได้จาอาการ ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ส่วนใดส่วนหนึ่งบริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก ท้ายทอย บวกกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือการทำงานที่ต้องอยู่ท่าเดิมนาน ๆ และเริ่มมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดหลังเรื้อรัง ปวดตา ตาพร่า
ซึ่งความรุนแรงของอาการ มีได้ตั้งแต่ปวดเมื่อยแบบธรรมดา ไปจนถึงปวดขั้นรุนแรง และอาจจะมีอาการปวดตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะเวลาใช้งานก็ได้เช่นกัน หากพบว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้ ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
ใครมีโอกาสเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมได้บ้าง?
ออฟฟิศซินโดรม มักเกิดในกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน แต่ก็ใช่ว่าคนทั่วไปจะไม่มีความเสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรม โดยผู้ที่ต้องทำกิจกรรมใช้กล้ามเนื้อในลักษณะเดิมเป็นเวลานาน อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นได้เช่นกัน
โดยสรุปผู้มีความเสี่ยงสูงที่มีโอกาสเป็นออฟฟิศซินโดรม ได้แก่
- พนักงานออฟฟิศ ที่นั่งทำงานท่าเดิมนาน ๆ
- นักกีฬา มีอาการจากการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสม หรือออกแรงมากเกินไป
- พนักงานขายที่ต้องยืนตลอดทั้งวัน
- พนักงานขับรถ ที่ต้องนั่งอยู่ในรถหลายชั่วโมงติดต่อกัน

นอกจากออฟฟิศซินโดรม ยังมีกลุ่มอาการที่เกิดจากส่วนของกระดูกสันหลังมีปัญหา ซึ่งสัมพันธ์กับการจัดท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหลังค่อม ไหล่ห่อ ก้มคอ และมักมีอาการรุนแรงตามมา ได้แก่ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, โรคหมอนรองกระดูกปลิ้น, โรคกระดูกสันหลังคด ที่อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา หรือไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมาได้
การรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม
- รับประทานยา ช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการชา
- การยืดกล้ามเนื้อโดยนักกายภาพบำบัด นอกจากช่วยรักษาอาการแล้ว ยังช่วยสร้างความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนท่าทางการทำงานตามความเหมาะสมในแต่ละบุคคล รวมถึงท่ากายบริหารเพื่อยืดกล้ามเนื้อ และออกกำลังกายอย่างถูกวิธี
- รักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของโลหิตบริเวณกล้ามเนื้อดียิ่งขึ้น (ไม่เหมาะสำหรับคนที่เคยมีอาการชัก, มีการฝังโลหะหรืออุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ต่าง ๆ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ)
- การฝังเข็มโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู
- รักษาโดยแพทย์แผนไทยประยุกต์ เช่น จ่ายยาสมุนไพร ทำหัตถการเพื่อการรักษา นวดผ่อนคลาย
แนะนำท่าบริหารกล้ามเนื้อ บ่า คอ 4 ทิศทาง เพื่อบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยตัวเอง
- ท่าเงยหน้า นั่งหลังตรง ประสานมือไว้บริเวณหน้าอก โดยให้นิ้วโป้งทั้งสองข้างตั้งขึ้น นำมาไว้บริเวณใต้คาง แล้วค่อย ๆ ออกแรงดันให้เงยหน้าขึ้น จนรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอด้านหลัง นิ่งค้างไว้ 10 วินาที
- ท่าก้มหน้า นั่งหลังตรง ประสานมือวางไว้บริเวณท้ายทอย กดโน้มศีรษะลงไปช้า ๆ จนรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอด้านหลัง นิ่งค้างไว้ 10 วินาที
- ท่าเอียงหูชิดไหล่ นั่งหลังตรง เอามือซ้ายไพล่หลัง แล้วใช้มือขวาวางบนศีรษะเหนือใบหูข้างซ้าย ค่อย ๆ กดโน้มศีรษะไปทางด้านขวาช้า ๆ จนรู้สึกตึงกล้ามเนื้อบ่าคอข้างซ้าย นิ่งค้างไว้ 10 วินาที แล้วสลับทำอีกข้างนึง
- ท่าก้มหน้า 45 องศา นั่งหลังตรง เอามือซ้ายไพล่หลัง หันหน้าไปทางขวา 45 องศา แล้วใช้มือขวาวางบนศีรษะ บริเวณศีรษะด้านหลังค่อย ๆ กดโน้มศีรษะลงช้า ๆ จนรู้สึกตึงกล้ามเนื้อต้นคอด้านหลัง นิ่งค้างไว้ 10 วินาที แล้วสลับทำอีกข้างนึง
การป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรม
วิธีป้องกันและดูแลตัวเอง เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นออฟฟิศซินโดรมอีก ได้แก่
- ออกกำลังกาย เป็นประจำ
- พักการใช้กล้ามเนื้อ ลดการใช้โทรศัพท์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- จัดท่าทางในการทำงานให้เหมาะสม ปรับโต๊ะเก้าอี้ให้เหมาะกับสรีระ
- อย่าจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป ควรพักสายตาบ้าง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในอิริยสบถเดิมเป็นเวลานาน ให้เปลี่ยนอิริยาบถทุก 1-2 ชม.
- ทำท่าบริการยืดกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ สะบัก แขน มือและหลัง เช้า- เย็น ท่าละ 3-4 ครั้ง ทุกวัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส
