ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน สิ่งที่คนทำงานควรรู้ ตรวจอะไรบ้าง ราคาเท่าไหร่ ที่ไหนดี?
ในปัจจุบันหลายบริษัทมักให้ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน มีการขอใบรับรองแพทย์ และการตรวจร่างกายเบื้องต้น จุดประสงค์เพื่อยืนยันความพร้อมสำหรับการเริ่มงานใหม่ โดยรายการที่ต้องตรวจมักเป็นโรคติดต่อหรือปัญหาสุขภาพที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานนั้น ๆ
ในบทความนี้จะแนะนำขั้นตอนการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ว่าต้องตรวจอะไรบ้าง ราคาเท่าไหร่ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มทำงานอย่างมืออาชีพ
สารบัญ ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน
1. ทำไมต้องตรวจสุขภาพก่อนเข้างาน?
2. ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ตรวจอะไรบ้าง?
3. ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน 5 โรคคืออะไร?
4. ผู้ชายกับผู้หญิงมีรายการตรวจต่างกันไหม?
5. การเตรียมตัวเพื่อตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน
6. ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานราคาเท่าไร?
7. คำถามที่ที่พบบ่อยก่อนตรวจสุขภาพเข้าทำงาน
8. ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานที่ไหนดี?
ทำไมต้องตรวจสุขภาพก่อนเข้างาน?
ปัจจุบันการตรวจสุขภาพก่อนเข้างานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลาย ๆ บริษัทเพื่อเป็นการเสริมความมั่นใจของบริษัทว่า พนักงานที่เข้ามาทำงานจะมีความพร้อม และสุขภาพที่แข็งแรงพร้อมสำหรับการทำงานเพื่อความปลอดภัยโดยรวมของคนในองค์กรที่ต้องทำงานร่วมกับเรา
ในขณะเดียวกันก็ยังเกิดประโยชน์กับตัวพนักงงานเอง เพราะการตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงานก็จะทำให้เราได้ทราบถึงสุขภาพโดยรวมของตนเอง ซึ่งบางครั้งภายนอกอาจดูปกติ แต่แท้จริงแล้วอาจกำลังเจ็บป่วยหรือมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งหากรู้เร็ว ก็จะสามารถรักษาได้ทัน สามารถลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายแต่ละปีโดยไม่จำเป็นอีกด้วย
ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ตรวจอะไรบ้าง?
ในการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน จะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท แบ่งเป็น ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานทั่วไป เช่น วัดความดันโลหิต ชีพจร ดัชนีมวลกาย ฯลฯ เป็นใบรับรองสุขภาพทั่วไป และตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานตามความเสี่ยงของงานที่ทำ บริษัทจะระบุรายการตรวจมาให้ หรือต้องปรึกษาแพทย์อาชีวเวชศาสตร์
1.ซักประวัติและตรวจสุขภาพทั่วไป (Physical exams)
การตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน แพทย์จะมีการซักประวัติเพื่อคัดกรองข้อมูลเบื้องต้น ใช้ประกอบคำวินิจฉัยร่วมกับการตรวจอื่น ๆ เช่น ตรวจวัดสัญญาณชีพ ดัชนีมวลกาย ความดันโลหิต การทำงานของระบบประสาท ตรวจเอกซ์เรย์ปอด ตรวจโรคระบบทางเดินหายใจ ช่องท้อง เพื่อวินิฉัยโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ โรคอ้วน เป็นต้น
2.การตรวจวัดทางสายตา
การตรวจวัดทางสายตาจะตรวจด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อหาปัญหาทางสายตาเบื้องต้น โดยดูที่การตอบสนองของดวงตา ค่าสายตา ตรวจตาบอดสี และสีของตาขาว,ตาดำ
3.ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของเม็ดเลือด ระดับคอเลสเตอรอล ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ค่าไต ค่าไทรอยด์ฮอร์โมน โดยต้องตรวจผ่านห้องปฏิบัติการเพื่อผลการตรวจที่มีความแม่นยำ
4.ตรวจปัสสาวะและตรวจสารเสพติด
ในการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานเพื่อหาสารเสพติด มักจะตรวจจากปัสสาวะ โดยหาสารเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) และแอมเฟตามีน (Amphetamine) อีกทั้งยังสามารถตรวจโรคอื่น ๆ จากปัสสาวะ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคไต และโรคเบาหวาน
5.ตรวจหาเชื้อไวรัส โรคติดต่อ
ตรวจหาโรคติดต่อที่มีการติดได้จากการใช้ของร่วมกัน หรือติดต่อทางสารคัดหลั่งทางเพศสัมพันธ์ ค่อนข้างมีความสำคัญ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนเข้าทำงาน ทั้งต่อองค์กรและเพื่อนร่วมงาน
ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน 5 โรคคืออะไร?
ใบบางบริษัทจะมีการระบุให้ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน โดยขอใบรับรองแพทย์ 5 โรค จากสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือ เพื่อยืนยันว่ามีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อร้ายแรงที่ส่งผลต่อบริษัท โดย 5 โรคนี้ ได้แก่
- วัณโรคในระยะอันตราย
- โรคเท้าช้าง
- โรคยาเสพติดให้โทษ
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคเรื้อรังหรือร้ายแรงอื่น ๆ ที่มีการแสดงอาการอย่างชัดเจน
ทั้งนี้รายละเอียดในการขอใบรับรองจะขึ้นอยู่กับบริษัทว่าต้องการแบบไหน เนื่องจากใบรับรอง 5 โรค สามารถตรวจจากการซักประวัติ และตรวจอาการเบื้องต้นได้ แต่ถ้าบริษัทต้องการความละเอียดและผลการันตี อาจจะมีการให้ระบุผลเลือด ผลการเอ็กเรย์ หรือการตรวจปัสสาวะด้วย
ผู้ชายกับผู้หญิงมีรายการตรวจต่างกันไหม?
การตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานของผู้ชายและผู้หญิง อาจมีแตกต่างกันบ้างในบางรายการ ดังนี้
- ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานผู้ชาย ที่แตกต่างจากผู้หญิง เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก (มักแนะนำให้ตรวจให้ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป), การตรวจถุงลมโป่งพอง
- ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานผู้หญิง ที่แตกต่างจากผู้ชาย เช่น การตรวจภายใน เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือสัญญาณของโรคมะเร็ง, ตรวจเต้านม ด้วยการคลำเต้านมหรือใช้เครื่องแมมโมแกรมถ่ายภาพเต้านม เพื่อหาความผิดปกติของก้อนเนื้อ
การเตรียมตัวเพื่อตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน
- เตรียมเอกสารเพื่อยืนยันตัวให้เรียบร้อย เช่น บัตรประชาชนตัวจริง ใบขับขี่
- เตรียมใบส่งตัว (ถ้ามี) ผู้รับการตรวจสุขภาพสามารถรับใบส่งตัวจากฝ่ายทรัพยากรบุคคล ในกรณีที่บริษัทมีการร่วมมือกับโรงพยาบาล และอาจมีการส่งผลตรวจไปที่บริษัทโดยตรง
- หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพ ควรนำเอกสารมาด้วย
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง การนอนไม่พอจะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต
- งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนการตรววจ สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย
- สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและสะดวกต่อการเจาะเลือดบริเวณข้อพับแขน
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ อย่างน้อย 24 – 48 ชั่วโมง
- หากมีโรคประจำตัว ยาที่รับประทานประจำ หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนการตรวจ
- ผู้ที่ต้องการตรวจหาความเสี่ยงเฉพาะโรค ควรปรึกษาศูนย์ตรวจสุขภาพก่อน
- สำหรับโปรแกรมสุขภาพที่มีการตรวจปัสสาวะ ควรปัสสาวะทิ้งเล็กน้อยก่อน แล้วจึงเก็บปัสสาวะตรงช่วงกลาง (Mid Stream)
- สำหรับผู้หญิงหากอยู่ในช่วงมีประจำเดือน ควรเว้นช่วงตรวจก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานคือช่วงเช้า เพื่อให้มีเวลางดอาหารตอนกลางคืน ดังนั้นเมื่อตรวจสุขภาพเรียบร้อยแล้วควรรับประทานอาหารทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายอ่อนล้าหรืออิดโรย
ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานราคาเท่าไร?
การตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ราคาจะแตกต่างกันไปตามแพ็กเกจ และความละเอียดในการตรวจ ที่ โรงพยาบาลPMG มีแพ็กเกจตรวจสุขภาพโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
